Custom Search
 


อ่าวเมาะและ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อ.เมือง จ.สตูล

(ดูภาพด้านล่าง)



     3.อ่าวเมาะและ อ่าวสวยอีกแห่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันตกของเกาะตะรุเตา ความยาวประมาณ 1 กม. อ่าวเมาะและมีบรรยากาศที่เงียบสงบมากกว่าอ่าวพันเตมะละกา ลักษณะชายหาดโค้งคล้ายรูปพระจันทร์เสี้ยว ทรายเนื้อเนียนละเอียดสีขาวอมน้ำตาลอ่อน มีแมกไม้น้อยใหญ่ขึ้นยืนต้นตลอดแนวชายฝั่งให้ร่มเงาครึ้ม อ่าวเมาะตั้งอยู่ห่างจากอ่าวพันเตมะละกาประมาณ 4 กม. นักท่องเที่ยวสามารถเดินเท้าหรือจะเช่าเหมารถจากที่ทำการฯ ไป – กลับอ่าวเมาะและก็ได้ (ไม่แนะนำให้เช่าเหมาเรือไป – กลับ ระหว่างปากคลองพันเตมะละกา - อ่าวเมาะและเพราะไม่คุ้มค่าครับ)



อ่าวเมาะและ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อ่าวเมาะและ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา

สถานที่หลับนอน (เต๊นท์) กับ อุปกรณ์แห่งความหรรษา (เรือคายัก)


อ่าวเมาะและ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อ่าวเมาะและ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา

"อ่าวเมาะและ เกาะตะรุเตา" ในยามเย็น



     อ่าวเมาะและมีลานกางเต็นท์รวมถึงห้องน้ำเปิดให้บริการ แต่หากนักท่องเที่ยวเลือกพักค้างแรมในบริเวณอ่าวแห่งนี้จะเดินทางไปท่องเที่ยวยังจุดน่าสนใจรอบเกาะแห่งอื่นๆ ได้ลำบาก (เวลาจะไปที่ไหนจำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ วิทยุเรียกรถมารับครับ)



อ่าวเมาะและ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อ่าวเมาะและ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อ่าวเมาะและ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อ่าวเมาะและ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา

หลากหลายมุมมอง ณ อ่าวเมาะและ อันเงียบสงบ



     4.อื่นๆ เนื่องจากเวลาและงบประมาณอันจำกัดทำให้ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมไม่สามารถเดินทางไปเก็บภาพถ่ายรวมถึงข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวบนเกาะตะรุเตาได้ทุกๆ แห่ง แต่พวกเราก็ได้สืบค้นข้อมูลของสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอื่นๆ โดยสังเขปมาฝากไว้ดังต่อไปนี้

     อ่าวตะโละอุดัง” อยู่ทางด้านทิศใต้ของเกาะตะรุเตาห่างจากที่ทำการกลางฯ ประมาณ 23 กม. และอยู่ห่างจาก “เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย” ประมาณ 8 กม. ในอดีตอ่าวแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานกักกันนักโทษคดีการเมือง แต่ปัจจุบันอ่าวแห่งนี้ได้กลายเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาที่ ตต.2 (อ่าวตะโละอุดัง) บริเวณอ่าวตะโละอุดังไม่มีจุดน่าสนใจใดๆ มากนัก หากนักท่องเที่ยวมีเวลาอยู่บนเกาะตะรุเตาไม่นาน แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังอ่าวแห่งนี้เพราะอาจไม่คุ้มค่าเหมายานพาหนะ



เกาะตะเกียง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา เกาะตะเกียง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา เกาะหญ้าคา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา เกาะหญ้าคา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา

รอบๆ "เกาะตะรุเตา" ก็มีจุดดำน้ำตื้นๆ สำคัญๆ หลายแห่ง

         
      

     “อ่าวสน” เป็นอ่าวที่มีชื่อเสียงในอันดับต้นๆ ของเกาะตะรุเตา ลักษณะหาดทรายขาวโค้งมนสลับกับหาดหิน ความยาวประมาณ 4 กม. บริเวณอ่าวสนเป็นที่ตั้งของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาที่ ตต.4 (อ่าวสน) ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวสนมีน้ำตกขนาดเล็กซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเดินเท้าไปถึงได้ 2 แห่ง คือ “น้ำตกลูดู (อยู่ห่างจากอ่าวสนประมาณ 3 กม.)” และ “น้ำตกโละโป๊ะ (อยู่ห่างจากอ่าวสนประมาณ 5 กม.)

     นอกจากจะมีทิวทัศน์ที่สวยงามแล้ว อ่าวสนยังเป็นศูนย์กลางในการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาอีกด้วย อ่าวสนตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการฯ บริเวณอ่าวพันเตมะละกาประมาณ 8 กม.นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมายังอ่าวสนได้ 2 วิธี คือ เช่าเหมารถสองแถวจากที่ทำการฯ บริเวณอ่าวพันเตมะละกา หรือ ติดต่อเช่าเหมาเรือจากท่าเทียบเรือบริเวณคลองพันเตมะละกาก็ได้ (แนะนำให้เหมารถจะประหยัดเวลาในการเดินทางและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการเหมาเรือเยอะ แต่ไม่แนะนำให้เดินเท้ามายังอ่าวแห่งนี้เนื่องจากระยะทางค่อนข้างไกล อีกทั้งยังต้องเดินขึ้นเนินสูงบางช่วงทำให้เสียเวลาและเหนื่อยมากพอสมควรครับ)

     บริเวณอ่าวสนมีลานกางเต็นท์และห้องน้ำเปิดให้บริการเช่นเดียวกับอ่าวเมาะและ แต่หากเลือกพักค้างแรม ณ อ่าวแห่งนี้จะเดินทางไปท่องเที่ยวยังจุดน่าสนใจอื่นๆ รอบเกาะได้ค่อนข้างยากลำบาก

     5.ดำน้ำตื้นรอบเกาะตะรุเตา ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมมีเวลาและงบประมาณในการเก็บภาพถ่ายรวมถึงข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ อยู่อย่างจำกัด ดังนั้นพวกเราจึงจำเป็นต้องเลือกใช้งบประมาณก้อนนี้ให้มีความคุ้มค่ามากที่สุดสำหรับการเดินทางในแต่ละครั้ง และการเลือกเช่าเหมาเรือของอุทยานฯ เพื่อเดินทางไปเก็บภาพถ่ายรวมถึงข้อมูลจุดดำน้ำตื้นรอบๆ เกาะตะรุเตา คือ ทางเลือกซึ่งพวกเราลงความเห็นกันว่าน่าจะคุ้มค่ามากที่สุด

           
ปะการัง เกาะตะเกียง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ปะการัง หมู่เกาะตะรุเตา ปะการัง เกาะตะเกียง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ปะการัง เกาะตะเกียง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา

ปะการังแผ่นเปลวไฟ , ปลาคู่รัก ? , ปะการังโขด และ ปะการังรังผึ้ง


ปะการัง หมู่เกาะตะรุเตา ปะการัง เกาะตะเกียง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ปะการัง เกาะตะเกียง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ปะการัง เกาะตะเกียง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา

กัลปังหาสีแสดแดง , ปะการังเขากวางพุ่มขนาดเล็กซึ่งอยู่ระหว่างปะการังโขด
, ปลาเต้นระบำ ? กับ ปะการังไฟ ? (เรียงตามลำดับจากซ้ายมาขวา)


ปะการัง เกาะตะเกียง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา


.........................ชีวิตสุขเสรี.........................




    
คงจะเป็นเรื่องน่าเสียดายหากคุณมาพักค้างแรมบนเกาะตะรุเตาแต่ไม่มีโอกาสได้เหมาเรือของทางอุทยานฯ ไปดำน้ำตื้นรอบๆ เกาะ เพราะแนวปะการังที่นี่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก (ถึงแม้ว่าแนวปะการังโดยรอบเกาะตะรุเตาจะยังมีความสวยงามไม่เท่ากับแนวปะการังโดยรอบบริเวณเกาะอาดัง , เกาะราวี หรือ เกาะหลีเป๊ะ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นแนวปะการังที่ยังคงมีความสมบูรณ์อยู่สูงและไม่ควรพลาดการแวะเยี่ยมชมครับ) จากประสบการณ์ตรงของทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมพบว่ามีจุดดำน้ำตื้นที่น่าสนใจอยู่หลายแห่งดังต่อไปนี้



ปะการัง เกาะหญ้าคา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ปะการัง เกาะหญ้าคา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา

ปะการังผักกาดหอม และ ปะการังโต๊ะขนาดเล็ก


ปะการัง เกาะหญ้าคา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ปะการัง เกาะหญ้าคา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา

ที่จุดดำน้ำตื้น "เกาะหญ้าคา" มีปะการังอ่อนสีม่วงอมฟ้า
กับ ปะการังสมองที่ได้รับผลกระทบบางส่วนจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว




     เกาะหญ้าคา” เป็นเกาะหินขนาดเล็กซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะตะรุเตา ด้านบนตัวเกาะถูกปกคลุมไปด้วยต้นหญ้าคาแห้งสีเหลืองทองที่สะบัดใบไหวๆ อยู่ภายใต้สายลมอ่อนๆ ของฤดูร้อน บริเวณเกาะหญ้าคาแห่งนี้สามารถพบเห็นปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลแบบต่างๆ ได้หลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นปะการังผิวเกล็ดน้ำแข็ง , ปะการังเขากวาง , ปะการังถ้วยสมอง , ปะการังโขด , ดอกไม้ทะเล , ปลาสลิดหินบั้งเขียวเหลือง ฯลฯ แต่ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากจุดดำน้ำแห่งอื่นๆ ก็คือ “ปะการังอ่อนสีม่วงขาว” ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าเมื่อปลายปี พ.ศ. 2553 จะเกิด “ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว” ขึ้นจนส่งผลกระทบต่อแนวปะการังบางส่วนในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา แต่จากการสำรวจของทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 พบว่าความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังโดยรอบเกาะหญ้าคาก็ยังคงอยู่ในระดับดีพอใช้




อ่าวถ้ำฤาษี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อ่าวถ้ำฤาษี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อ่าวถ้ำฤาษี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อ่าวถ้ำฤาษี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา

มองไปแลมา ณ "อ่าวถ้ำฤๅษี เกาะตะรุเตา"


อ่าวถ้ำฤาษี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา อ่าวถ้ำฤาษี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา  เกาะหญ้าคา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา

.........................เกาะตะเกียง , ถ้ำฤๅษี และ เกาะหญ้าคา.........................


เกาะตะเกียง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา


"เกาะตะเกียง" เมื่อมองจากระยะไกล


ปะการัง หมู่เกาะตะรุเตา ปะการัง เกาะตะเกียง

กัลปังหาสีแสดแดง กับ แนวปะการังโต๊ะขนาดใหญ่



     จากเกาะหญ้าคา.....เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาพาพวกเราแล่นเรือมายังจุดดำน้ำตื้นที่เป็นกองหินปริ่มน้ำอีกแห่งหนึ่งซึ่งไม่ทราบว่าชื่ออะไร (ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แล้วว่าจุดดำน้ำแห่งนี้มีชื่อว่าอะไร แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็ไม่ทราบชื่อเช่นกัน.....ทราบแค่ว่ากองหินปริ่มน้ำจุดนี้มีปะการังสวยเท่านั้นครับ) ณ จุดนี้เองที่พวกเรามีโอกาสได้เห็น “กัลปังหาแดง” ซึ่งมีความสมบูรณ์มากๆ อยู่กอหนึ่ง นอกจากกัลปังหาแล้วบริเวณนี้ยังสามารถพบฟองน้ำ , ดอกไม้ทะเล , ปลาการ์ตูน , ปลากล้วยแถบเหลือง , ปะการังโขด , ปะการังแผ่น และ ยังสามารถพบสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลอื่นๆ ได้อีกหลายชนิด

                  
เกาะหญ้าคา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา


..........พ่อก็ดำ (น้ำ) ...............ลูกก็ดู..........


ปะการัง เกาะตะเกียง


เต็มๆ ตากับปะการังโต๊ะแผ่นยักษ์บริเวณ "เกาะตะเกียง"



     จุดดำน้ำตื้นรอบๆ เกาะตะรุเตาลำดับสุดท้ายซึ่งพวกเรามีโอกาสได้ไปเยือนในการเดินทางครั้งนี้ก็คือ “เกาะตะเกียง” เกาะซึ่งมีการติดตั้งหอส่งสัญญาณไฟส่องสว่างนำทางชาวเรือในยามค่ำคืนมาตั้งแต่ครั้งอดีต (เท่าที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมลองสังเกตดูก็ไม่พบว่ามีประภาคารตั้งอยู่บนเกาะตะเกียงแต่อย่างใด จะเห็นก็เฉพาะหอส่งสัญญาณไฟซึ่งมีลักษณะเป็นโครงเหล็กบนเกาะเท่านั้น) ใต้ผืนทะเลบริเวณเกาะตะเกียงนี้พวกเราได้พบกับ “ปลาเต้นระบำ” ฝูงเล็กๆ จำนวน 5 ตัว กำลังว่ายน้ำด้วยลีลาประหลาดโดยการปักหัวทิ่มลงสู่พื้นตลอดเวลาแล้วโยกย้ายซ้ายขวาราวกับเริงระบำ.....ดูน่ารักน่าชังแบบแปลกๆ.....(จริงๆ ไม่ทราบว่าปลาชนิดนี้ชื่ออะไร แต่จากลักษณะท่าทางการว่ายของเจ้าปลาน้อยฝูงนี้ทำให้พวกเราตั้งชื่อมันใหม่ว่าปลาเต้นระบำครับ) นอกจากนี้พวกเรายังได้เห็นหอยมือเสือตัวโต , ดอกไม้ทะเล , ปะการังโต๊ะขนาดใหญ่ , ปะการังแผ่นเปลวไฟ , ปะการังสมอง , ปะการังผักกาดหอม , ปะการังรังผึ้ง รวมถึงฝูงปลาอีกหลายสายพันธุ์ด้วย



ปะการัง เกาะตะเกียง ปะการัง เกาะตะเกียง

หอยมือเสือตัวโตๆ กับ กลุ่มปลาเต้นระบำทั้ง 5


ปะการัง เกาะหญ้าคา ปะการัง เกาะตะเกียง

ดอกไม้ทะเล และ ปะการังไฟ ?


   
     ก่อนที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) จะเดินทางกลับไปยังท่าเรือปากคลองพันเตมะละกา พวกเราได้ขอให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ พาพวกเราแล่นเรือแวะไปที่ “อ่าวฤๅษี” อ่าวเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะตะรุเตา ถึงแม้ว่าน้ำทะเลด้านหน้าอ่าวฤๅษีจะมีความใสและสวยงาม แต่ริมชายหาดก็เต็มไปด้วยขยะจำนวนมากเนื่องจากชาวเลใช้อ่าวแห่งนี้เป็นสถานที่จอดพักเรือประมงขนาดเล็ก (แล้วก็ทิ้งขยะเหลือใช้ต่างๆ เอาไว้ริมชายหาด) หากลองเดินถัดเข้าไปจากบริเวณริมชายหาดก็จะได้พบกับ “ถ้ำฤๅษี” ซึ่งเป็นถ้ำตื้นๆ ที่ชาวเลใช้หลับนอนหลบแดดหลบฝน ภายในถ้ำมีแคร่ไม้ไผ่ , ถังพลาสติก , ลอบดักปู และข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ วางอยู่กล่นเกลื่อน กรณีที่นักท่องเที่ยวรู้สึกเหนื่อยจากการดำน้ำและต้องการกลับไปพักผ่อนนอนผึ่งพุงโดยไม่อยากจะแวะสถานที่ใดๆ ให้สิ้นเปลืองพลังงานอีก ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมแนะนำว่าไม่จำเป็นต้องเจริญรอยตามพวกเราเดินทางมาที่อ่าวฤๅษีก็ได้เพราะอ่าวแห่งนี้ไม่มีจุดน่าสนใจใดๆ มากมายนัก (ปกติการเช่าเหมาเรืออุทยานฯ เพื่อดำน้ำตื้นรอบๆ เกาะตะรุเตาจะไม่รวมการแวะเที่ยวอ่าวฤๅษี แต่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมได้ขอร้องให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ พาพวกเรามาแวะเป็นกรณีพิเศษครับ)


ปะการัง เกาะหญ้าคา


....................รวมมิตรชีวิตใต้พื้นมหาสมุทร....................


ปะการัง เกาะหญ้าคา ปะการัง หมู่เกาะตะรุเตา ปะการัง เกาะตะเกียง

ปะการังโต๊ะ , ปะการังเขากวาง และ ปะการังผักกาดหอม


ปะการัง เกาะตะเกียง ปะการัง เกาะตะเกียง ปะการัง เกาะหญ้าคา ปะการัง เกาะตะเกียง

ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว
แต่เค้าร่างแห่งความสวยงามในอดีตก็ยังปรากฎให้เห็น




     บ่ายคล้อย.....พวกเราเดินทางออกจากอ่าวฤๅษีกลับสู่เรือนพักนักท่องเที่ยวบริเวณอ่าวพันเตมะละกา พรุ่งนี้แล้วที่พวกเราจะอำลาจากเกาะตะรุเตาและขึ้นเรือเร็ว (speed boat) มุ่งหน้าสู่ “เกาะไข่” และ “เกาะอาดัง” ซึ่งเป็นจุดหมายลำดับถัดไป



ปะการัง เกาะตะเกียง ปะการัง เกาะตะเกียง ปะการัง เกาะตะเกียง

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลรอบๆ เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา


ปะการัง เกาะตะเกียง หอยมือเสือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ปะการัง เกาะตะเกียง

.........................โลกต่างมิติ.........................



     
เกาะสำคัญแห่งอื่นๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา
(กรุณาคลิ๊ก “ ชื่อเกาะ” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของแต่ละเกาะโดยละเอียด)



     โทรศัพท์ติดต่ออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา
: (074) 783 – 485 , (074) 783 – 597

     
ฤดูกาลท่องเที่ยวที่เหมาะสม
: เปิดฤดูกาลท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน – 15 พฤษภาคม ของทุกๆ ปี (ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม – 15 พฤศจิกายน ของทุกๆ ปีเป็นช่วงปิดฤดูกาลท่องเที่ยว)

     การเดินทางสู่เกาะตะรุเตา : มีทั้งเรือเฟอรี่และเรือเร็วจากท่าเรือปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เดินทางสู่เกาะตะรุเตาทุกๆ วันในช่วงฤดูท่องเที่ยว คุณสามารถตรวจสอบข้อมูลตารางเดินเรือและติดต่อจองตั๋วเรือล่วงหน้าได้ตาม link ต่อไปนี้ >>> ตารางเดินเรือปากบารา – เกาะตะรุเตา – เกาะหลีเป๊ะ (และเกาะอาดัง)

     การเดินทางสู่ท่าเรือปากบารา อ.ละงู จ.สตูล :

     รถยนต์ส่วนบุคคล จากกรุงเทพมหานคร ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (ถ.เพชรเกษม) ผ่านเขตพื้นที่ จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี ต่อเข้าทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านเขตพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง ไปยัง อ.รัตนภูมิ จ.สงขลา และกลับมาใช้ทางหลวงหมายเลข 4 แล้วแยกขวาไปตามทางหลวงแผ่นดิน 406 เข้าสู่ จ.สตูล ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 4073 ไปยัง อ.ละงู และจาก อ.ละงูต่อไปยังท่าเรือปากบารา รวมระยะทางทั้งหมด 1,029 กม.

     รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพมหานคร ขึ้นรถสายกรุงเทพฯ – สตูล ลงที่ อ.ละงู แล้วขึ้นรถสองแถวต่อมายังท่าเรือปากบารา
จาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ขึ้นรถสายหาดใหญ่ – ปากบารา นอกจากนั้นยังมีรถตู้ปรับอากาศสายหาดใหญ่ – ปากบารา และรถแท็กซี่สายหาดใหญ่ – อ.ละงูด้วย
จาก จ.ตรัง ขึ้นรถประจำทางสายตรัง – สตูล ลงที่ อ.ละงู แล้วขึ้นรถสองแถวต่อมายังท่าเรือปากบารา
คุณสามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.transport.co.th โทรศัพท์ (02) 894 – 6122

     รถไฟ ไม่มีรถไฟให้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ – สตูลโดยตรง แต่สามารถขึ้นรถไฟไปยัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หรือ จ.ตรัง แล้วต่อรถโดยสารประจำทางชนิดต่างๆ มาที่ท่าเรือปากบาราอีกครั้งได้ คุณสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จาก www.railway.co.th โทรศัพท์ (02) 621 – 8701

     เครื่องบิน ไม่มีเครื่องบินให้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ – สตูลโดยตรง แต่สามารถใช้บริการเครื่องบินไปลงที่สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ หรือ สนามบินตรัง แล้วต่อรถโดยสารประจำทางชนิดต่างๆ มาที่ท่าเรือปากบาราอีกครั้งได้

     หมายเหตุ : ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมเก็บข้อมูล “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา” เมื่อเดือน ก.พ. 2554 ข้อมูลบางอย่างอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบัน

  

  


อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา หน้า 1 2






 


แผนผังเว็บไซต์ (Site Map)


บทความและภาพทุกภาพภายในเว็บไซต์หน้านี้เป็นลิขสิทธิ์ของท่องเที่ยวดอทคอม
(www.Thongteaw.com)
หากผู้ใดทำการคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไขหรือนำไปใช้ในกรณีใด ๆ
โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางทีมงาน
จะถูกดำเนินการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด


Copy right © Since 2008 by Thongteaw.com - All Rights Reserved
เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ 3102201494154